ร่วมเป็นเกียรติในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนกับการประกอบธุรกิจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
วันพุธที่ 20 มีนาคม 2567 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มอบหมาย นายกิตติวุฒิ ศศิวิมลพันธุ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนกับการประกอบธุรกิจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ระหว่าง มหาวิทยาลัยบูรพา สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ณ ห้องประชุม 402 (รศ.ชนะ ประณมศรี) คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนกับการประกอบธุรกิจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ร่วมกับ รองศาสตราจารย์วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา และ นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยมีนายธัชพล กาญจนกูล รองเลขาธิการ อีอีซี นางสาวรตญา กอบศิริกาญจน์ รองเลขาธิการ กสม. และผู้ช่วยศาสตราจารย์อนุรัตน์ อนันทนาธร รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา ร่วมเป็นพยาน เพื่อประสานความร่วมมือจากทั้ง 3 หน่วยงาน และส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติภารกิจด้านส่งเสริมสิทธิมนุษยชนให้กับผู้ประกอบการพื้นที่อีอีซีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ สาระสำคัญของ MOU ความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานดังกล่าว ในการขับเคลื่อนด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่อีอีซี อาทิ ส่งเสริมสนับสนุนความร่วมมือ ผลักดันการสร้างวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชน และพัฒนาหรือขยายเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน โดยการสร้างเครือข่ายองค์กรธุรกิจต้นแบบภาคตะวันออกที่ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชน การสนับสนุนการบริการทางวิชาการและการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมการประกอบธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม เคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชนและเป็นไปตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี
ในนามของสภาอุตสาหกรรม ได้กล่าวถึงบทบาทของสภาอุตสาหกรรมที่มีต่อการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมให้สถานประกอบการรับผิดชอบต่อสังคม และเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชนอย่างยั่งยืนในภาคธุรกิจ