วันศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2567 ดร.สมบูรณ์ ตรีพรเจริญ ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี และนายณัฏฐ์ธน สาตรจีนพงษ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี เข้าร่วมประชุมตรวจราชการแบบบูรณาการของผู้ตรวจราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รอบที่ 1 โดยมีนายชัยพร แพภิรมรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ให้การต้อนรับนายอุฬาร จิ๋วเจริญ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขตตรวจราชการที่ 8 และ ผู้ตรวจราชการกระทรวง ผู้ตรวจราชการกรมที่เกี่ยวข้องและที่ปรึกษาผู้ตรวจราชการภาคประชาชน ที่เดินทางมาตรวจราชการแบบบูรณาการของผู้ตรวจราชการ ประจำปีงบประมาณ 2567 รอบที่ 1 ณ ห้องประชุมชลบุรี ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดชลบุรี
การประชุมครั้งนี้เพื่อติดตามการดำเนินการตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล ประกอบด้วยเรื่อง มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายของรัฐบาล การสร้างรายได้การส่งเสริมและพัฒน่ด้านการท่องเที่ยว การสร้างคุณภาพชีวิต การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM 2.5
สภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ได้เสนอข้อคิดเห็นต่อคณะผู้ตรวจราชการ ดังนี้
- การประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาลยังไม่ทั่วถึง และประชาชนยังไม่เข้าใจในระเบียบ มาตรการการพักชำระหนี้ จึงทำให้ประชาชนเข้าถึงได้น้อยมาก
- การฟื้นฟูและการพัฒนาศักยภาพลูกค้าที่พักชำระหนี้ ยังไม่มีการเตรียมพร้อมในการดำเนินโครงการ อาจเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ และไม่ได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรเท่าที่ควร เพราะเกษตรกรมีความถนัดและมีความสนใจในอาชีพของตนมากกว่า ที่จะดำเนินการฝึกอาชีพใหม่ ๆ
- สถานการณ์การท่องเที่ยว มีการฟื้นตัวเป็นอย่างมาก เห็นได้จากการเข้ามาของนักท่องเที่ยว แต่การใช้จ่ายรายหัวของนักท่องเที่ยวลดลงเป็นอย่างมาก แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มมากตามการคาดหมาย แต่ยอดการใช้จ่ายลดลง และการท่องเที่ยวเป็นการท่องเที่ยวแบบระยะเวลาสั้น ๆ ไม่ใช่ long stay แต่ถ้าเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นไปตามคาดหมายในเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก
- การจัดสถานที่ท่องเที่ยว หรือการท่องเที่ยวเชิงอัตตลักษณ์ ที่เป็น SOFT POWER ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าอะไรคือ SOFT POWER ของจังหวัด และเป็นด้านใดในเรื่อง 5 F การฟื้นฟูสถานที่ท่องเที่ยวเดิมให้กลับมารับนักท่องเที่ยวได้เหมือนเดิมเป็นการยาก เพราะผู้ประกอบการมีหนี้สินมาก ขาดสภาพคล่อง และยังไม่มั่นใจในนโยบายรัฐ และการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจะมีเสถียรภาพ ด้งนั้น ทั้งภาครัฐ และจังหวัดจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ว่าจะขับเคลื่อนจังหวัดไปในด้านใด และต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวและบริการในพื้นที่นั้น ๆ
- การส่งเสริมการท่องเที่ยวในสถานที่ใหม่ ๆ การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และการจัดกิจกรรมตามเทศกาลของประเทศหรือเทศกาลในท้องถิ่นเป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ดังนั้นในเรื่องดังกล่าว จะเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวตามสถานที่ใหม่ ๆ ที่สร้างขึ้นมา
- ทางจังหวัดได้มีการเตรียมการความพร้อมในการส่งเสริมการตระหนักรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่แนวทางในการกระทำยังขาดความชัดเจน เพราะไม่ทราบว่าจะจัดการในแนวทางใดก่อน คือไม่สามารถคัดกรองความสำคัญ ของก๊าซเรือนกระจก ว่าควรทำเรื่องใดก่อนหรือเป็นเรื่องเร่งด่วน
- ความเห็นเกี่ยวกับมาตรการด่านชุมชน โดยเฉพาะบนถนนที่มีการเดินทางออกจากจุดเสี่ยง เช่น บริเวณโดยรอบสถานที่ฉลองในช่วงเทศกาล/กิจกรรมที่คาดว่าจะมีการจาหน่าย/ดื่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ และเยาวชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่สาคัญของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ในเรื่องนี้ ควรมีการแก้กฎหมาย เพิ่มโทษและการรับผิดชอบ ของผู้ที่เมาแล้วขับ ให้รุนแรงและมีความชัดเจนมากขึ้น เช่น การจับกักบริเวณ ห้ามการใช้ยานพาหนะในช่วงระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี ตามปริมาณแอลกอฮอล์ที่ตรวจพบ การรับผิดชอบต่อบุคคลที่เสียหายจากการเมาแล้วขับ เช่นต้องรับผิดชอบต่อการพิการตลอดชีวิต ของผู้พิการ
- ความเห็นเกี่ยวกับมาตรการการดำเนินการแก้ไขปัญหาหมอกควัน และฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากแหล่งกาเนิดหลักของฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ คือ ภาคอุตสาหกรรม และการจราจรและการขนส่ง ฝุ่นในภาคอุตสาหกรรมยังไม่มากเท่ากับ ฝุ่นที่เกิดจากภาคขนส่ง จากการจราจรที่หนาแน่น ติดขัดและการจอดรอแบบติดเครื่องยนต์ไว้ การใช้รถที่มีสภาพไม่เหมาะสม เก่า และไม่ได้รับการซ่อมบำรุง ซึ่งยังไม่มีมาตรการที่เหมาะสม เนื่องจากเป็นปัญหาที่มีผลกระทบในวงกว้าง